แฉ..ปืนใหญ่ 4 กระบอกทำสมอบกยึดลวด

เปิดอ่าน 6,023 views

ความลับถูกเปิดเผยเมื่อบริษัทรับเหมาซ่อมแซมปรับปรุงเสาธงชาติหน้าศาลากลางเมืองคอน(หลังเก่า) พบว่าแท้จริงแล้วสมอบก 4 ด้านใช้ยึดลวดสลิงเสาธงชาติเป็นปืนใหญ่โบราณอายุกว่า 100 ปี-ฝังดินโผล่ส่วนท้ายเหนือผืนดินใช้ผูกลวดสลิงยึดเสาธงชาติ-ผอ.สำนักศิลปากรชี้เป็นโบราณวัตถุทรงคุณค่าควรแก่การเก็บรักษาให้ดี

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 16 ก.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีการขุดพบปืนใหญ่โบราณจำนวน 4 กระบอกบริเวณเสาธงหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช (หลังเก่า) ถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัด ตามโครงการปรับปรุงซ่อมแซมเสาธงชาติหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับหอพระพุทธสิหิงค์ระหว่างศาลากลางกับศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเดินทางไปตรวจสอบพบว่าคนงานของบริษัทรับเหมาก่อสร้างกำลังช่วยกันพัฒนาปรับปรุงซ่อมแซมบริเวณรอบ ๆ เสาธงขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ 30 เมตร

s2โดยคนงานได้ช่วยกันขุดสมอบก 4 ด้านที่ใช้ยึดลวดสลิงจากช่วงปลายเสาธงชาติ แต่กลับพบว่าสมอบกทั้ง 2 ด้านที่ขุดขึ้นมากลายเป็นปืนใหญ่โบราณจำนวน 4 กระบอกและได้วางปืนใหญ่โบราณทั้งหมดไว้ใกล้ ๆ กับจุดเดิม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปืนใหญ่ทั้ง 4 กระบอกมีขนาดเท่า ๆ กัน ยาว 132 ซ.ม. เส้นรอบวงส่วนปลายกระบอก 67 ซม. เส้นรอบวงส่วนท้าย 87 ซม. ในขณะที่เส้นผ่าศูนย์กลางปากกระบอกปืนกว้าง 10 ซม. ส่วนน้ำหนักแต่ละกระบอกคาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในที่ประชุมได้มีมติให้เร่งดำเนินการโครงการปรับปรุงซ่อมแซมเสาธงชาติหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้งบประมาณ 105,000 บาท โดยบริษัท ฯที่ชนะการประกวดราคารับเหมาก่อสร้างได้เริ่มลงมือปฏิบัติงานตามสัญญา จนกระทั้งถึงขั้นตอนการรื้อลวดสลิงที่ยึดเสาธงชาติออก โดยพบว่าปลายลวดด้านล่างจะนำมาผูกยึดไว้กับสมอบกเหล็กมีลักษณะเป็นแท่งเหล็กทรงกลม ซึ่งฝังอยู่ในดินประมาณ 100 ซ.ม.หรือ 1 เมตร หลังจากที่คนงานระดมกันขุดนำสมอบกขึ้นมาพบว่าแท่งเหล็กสมอบกเสาธงชาติทั้ง 4 ด้านทำด้วยปืนใหญ่โบราณ ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ แม้จะมีสนิมจับเกาะกินในบางจุดบ้างก็ตาม

s3“หลังจากข่าวการขุดสมอบกเสาธงชาติกลางสนามหญ้าหน้าศาลากลาง โดยพบความจริงว่าทำด้วยปืนใหญ่จำนวน 4 กระบอกเผยแพร่ออกไปทำให้ประชาชนที่เดินทางมาติดต่อราชการที่ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และที่เข้ามากราบนมัสการพระพุทธสิหิงค์ ได้แห่เดินทางไปชมปืนใหญ่ทั้ง 4 กระบอกอย่างต่อเนื่อง และมีการพูดคุยวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเสาธงชาติขนาดใหญ่ดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กับการสร้างศาลากลางจังหงวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2506 แล้วเสร็จเปิดใช้งานในวันที่ 26 มีนาคม 2507 โดยที่ผ่านมามีการจัดงานประเพณีหรือกิจกรรมต่าง ๆ คนที่มาเที่ยวชมงานไม่รู้ว่าเป็นปืนใหญ่จึงมักจะนั่งทับบนสมอบก ”

โดยประชาชนบางส่วนเชื่อว่าการนำปืนใหญ่โบราณซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันบ้านเมืองครั้งโบราณมาฝังดินและทำเป็นสมอบกน่าจะไม่เหมาะสมนัก และอาจจะเป็นอาถรรพ์ที่ทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราชมีปัญหาในทุก ๆ ด้าน การพัฒนาล่าหลังกว่าจังหวัดอื่น ๆใน 14 จังหวัดภาคใต้ ทั้ง ๆ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชที่มีพระมหากษัตริย์ครองเมืองและยังมีเมืองบริวารมากถึง 12 เมือง ในขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งกลับมองในทางตรงข้ามว่าทำสมอบกด้วยปืนใหญ่โบราณยึดธงชาติน่าจะไม่มีผลในทางลบเพราะเท่ากับเป็นการช่วยพยุงชาติให้แข๋็งแรงมั่นคง และล่าสุดทางบริษัทผู้รับเหมาจึงแจ้งให้ทางสำนักงานจังหวัดและผู้ว่า ฯทราบ จนผู้ว่า ฯได้สั่งให้มีการก่อสร้างฐานตั้งปืนใหญ่ 2 ฝั่งเสาธงทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ฝั่งละ 2 กระบอก โดยให้หันปากกระบอกปืนไปทางถนนราชดำเนินหรือทางทิศตะวันออก”

ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับเรื่องนี้นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ทางสำนักศิลปากรที่ 14 ยังไม่ได้ลงไปตรวจสอบปืนใหญ่ทั้ง 4 กระบอกที่เพิ่งพบความจริงว่าถูกนำมาปักให้ปลายลงไปในดินและโผล่ส่วนท้ายเพื่อทำเป็นสมอบกยึดลวดสลิงเสาธงชาติกลางสนามหน้าศาลกลางจังหวัด โดยส่วนตัวเมืองว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติ และควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งจะมีระเบียบ วิธีการการจัดเก็บ การดูแล บำรุงรักษา หากชำรุดก็มีวิธีซ่อมแซมที่ดีมีคุณภาพ เพื่อให้สามารถเก็บรักษาสมบัติของชาติไว้ให้ได้นานที่สุด โดยสำนักงานศิลปากรพร้อมที่จะนำมาเก็บรักษาไว้แต่ในขณะนี้ทางจังหวัดยังไม่ได้แจ้งให้ทางสำนักศิลปากรทราบอย่างเป็นทางการเพื่อให้ไปนำปืนใหญ่ทั้ง 4 กระบอกมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำนักศิลปากรที่ 14 อย่างไรก็ตามทางสำนักศิลปากรที่ 14 จะทำหนังสือแจ้งให้ทางจังหวัดทราบต่อไป

“ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นปืนใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น อายุเกิน 100-150 ปีอย่างแน่นอน เพราะเป็นปืนใหญ่ที่ทำด้วยเหล็กคุณภาพสูงมาก โดยในกระบวนการหล่อจนได้เหล็กที่มีคุณภาพมาใช้ทำปืนใหญ่ได้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพราะต้องใช้ความร้อนเกิน 1,800 องศา และในยุคนั้นเมืองไทยยังไม่สามารถหล่อปืนใหญ่จากเหล็กได้ ต้องสั่งซื้อจากประเทศจีนหรือประเทศแถบยุโรป ซึ่งจะต้องทำความสะอาดและตรวจสอบว่าทั้ง 4 กระบอกผลิตจากประเทศอะไร แต่มั่นใจว่าเป็นเหล็กคุณภาพดีผ่านกระบวนการผลิตชั้นสูง แม้ฝังดินเป็นเวลานานก็ไม่ขึ้นสนิทยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ หากเป็นปืนใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทยมักจะทำด้วยสัมฤทธิ์หรือเหล็กคุณภาพต่ำเมื่อถูกฝังดินไว้นาน 40-50 ปีเช่นนี้คงโดนสนิมกินหมดสภาพไปนานแล้ว”
ปืนใหญ่โบราณ,เสาธงหน้าศาลากลางนครศรีธรรมราช
ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวตนเชื่อว่าน่าจะเป็นปืนใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศเป็นพิเศษ จึงสั่งปืนใหญ่จากจีนและยุโรปไปไว้ประจำตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ ในจำนวนนั้นคือเมืองนครศรีธรรมราช แต่หลังจากหยุดการใช้ปืนใหญ่ทำให้ปืนใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชถูกทิ้งไว้จำนวนมาก บางส่วนนำไปทำเป็นหลักเขตวัด อาทิ บริเวณประตูทางเข้าวัดประมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดท่าโพธิ์วรวิหาร ซึ่งตนเคยกราบเรียนทางเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ไปแล้วว่าปืนใหญ่โบราณเหล่านั้นควรจะนำไปจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ฯ จะดีกว่า โดยหลังจากนี้ทางกรมศิลปากรจะทำหนังสือแจ้งทางเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์อย่างเป็นทางการเพื่อขอนำปืนใหญ่โบราณทั้งหมดไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่อไป.

ไพฑูรย์ อินทศิลา /กัญญาณัฐ เพ็ญสวัสดิ์ /นครศรีธรรมราช

ร่วมแสดงความคิดเห็น