การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทที่ปรึกษา จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

เปิดอ่าน 2,493 views

DSC_5350_2

การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทที่ปรึกษา จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ชาว ครั้งที่ 3 โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา เตรียมพร้อมจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง รื้อถอนและขนย้ายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่แนวรถไฟ เมื่อดำเนินโครงการจริง

วันนี้(21 มิ.ย.59) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมแกรนด์เซ้าท์เทิร์น อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นายดนัย เจียมวิเศษสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดขึ้น เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อห่วงกังวลด้านต่าง ๆ จากกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด อันจักเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการและข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยมีนายทศพร จันทรประวัติ นายอำเภอทุ่งสง ผู้แทนหน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชนร่วมประชุม มีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้จัดการโครงการ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม เป็นผู้นำเสนอข้อมูล

นายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา มีระยะทางรวม 321 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ได้มีการออกแบบแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟทั้งหมด 7 แบบ ได้แก่ สะพานรถรถไฟข้ามทางรถยนต์ จำนวน 79 จุด สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 18 จุด สะพานกลับรถรูปตัว U 73 จุด/สะพานกลับรถรูปตัว H 4 จุด ทางลอดใต้ทางรถไฟ 41 จุด ทางบริการข้างทางรถไฟ 95 จุด ทางลอดขนาดเล็กเพื่อการเกษตร 39 จุด และ สะพานลอยสำหรับคนข้าม 20 จุด /สะพานลอยสำหรับจักรยานยนต์ 36 จุด ในส่วนของการชดเชย เยียวยาผู้ที่มีสัญญาเช่า และผู้ที่ไม่มีสัญญาเช่าที่อาศัยอยู่ในเขตทาง ซึ่งแบ่งผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ 1. ผู้ที่เช่าพื้นที่กับการถไฟถูกต้องตามกฎหมาย จะได้รับค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง หักค่าเสื่อมราคา ค่ารื้อถอนขนย้าย ชดเชยค่าเสียโอกาส 2. ผู้ที่ไม่ได้เช่าพื้นที่กับการรถไฟฯ จะได้รับค่ารื้อถอนและขนย้าย และกลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ถูกเวนคืนแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ 1. ทดแทนที่ดิน 2. ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง 3.ค่าทดแทนไม้ยืนต้น นอกจากนี้การรถไฟฯ จะได้จัดสรรพื้นที่ว่างเปล่าให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการได้เช่าอย่างถูกต้องด้วย สำหรับความคุ้มค่าและความเหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการประมาณ 75,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 49,632 ล้านบาท ค่าจัดเตรียมขบวนรถและหัวลาก 23,701 ล้านบาท และค่าเวนคืนและชดเชยสินทรัพย์ 1,652 ล้านบาท

DSC_5353_2 DSC_5357_2 DSC_5336_2 DSC_5339_2

ร่วมแสดงความคิดเห็น